ถาม&ตอบ กับ พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน
พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน
หัวหน้าศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้วเจริญกรุง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต และเป็นหนึ่งในอนุกรรมการการล้างไตทางช่องท้อง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
บทนำ
ปัจจุบันการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทยมีหลักๆ 3 วิธี ได้แก่
1. การล้างไตทางช่องท้อง
2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
3. การปลูกถ่ายไต
ปัจจุบันประเทศไทยมีสิทธิการรักษา 3 สิทธิ คือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม ทั้ง 3 สิทธิ สามารถเข้าถึงการบำบัดทดแทนได้ทุกวิธี
การล้างไตทางช่องท้องด้วยมือ หรือ CAPD จะมีการปล่อยน้ำยาเข้าในช่อง ต่อจากนั้นแช่น้ำยาในช่องท้อง และปล่อยน้ำยาออก วนไปเรื่อยๆ ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ร่างกายมีการขจัดข้อเสียได้ตลอดเวลา และสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยปัจจุบันมีเครื่องล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือ APD เพื่อให้ผู้ป่วยเลือกใช้ โดยเครื่องจะทำงานเฉพาะเวลานอนเท่านั้น เครื่องล้างไตจะทำการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง และปล่อยน้ำออกจากช่องท้องอัตโนมัติ ทำให้ช่วงเวลากลางวันท้องของผู้ป่วยจะไม่มีน้ำยาล้างไตในช่องท้อง สำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องเดินทางไปที่ศูนย์ไตเทียมเพื่อทำการฟอกเลือด เพื่อขจัดของเสียออกจากร่างกาย โดยโอกาสที่จะได้ขจัดของเสียได้สูงสุดเพียง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้นการเลือกวิธีการรักษาจะต้องมีการประเมินร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย